เรารู้กันดีว่าผึ้งมีบทบาทสำคัญในการผสมเกสร แต่สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือ โลกเราจำเป็นต้องมีผึ้งหลากหลายชนิดด้วย แม้ผึ้งป่าจำนวนมากจะอาศัยอยู่โดดเดี่ยวและไม่ผลิตน้ำหวาน แต่ผึ้งเหล่านั้นก็มีคุณค่าไม่แพ้กัน ทั้งต่อระบบนิเวศและความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ความสำคัญของการมีผึ้งหลากหลายชนิด อาจสรุปง่าย ๆ ดังนี้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
Toggleดอกไม้บางชนิดต้องการการผสมเกสรด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งไม่ใช่ผึ้งทุกชนิดที่ทำได้
เมื่อเราวาดเกสรดอกไม้ เรามักคุ้นเคยกับเกสรตัวผู้ที่เป็นก้านชูขึ้นไปและมีเกสรตัวผู้อยู่ตรงปลายยอด แต่ไม่ใช่ดอกไม้ทุกชนิดที่มีเกสรเปิดโล่งให้แมลงเข้าถึงได้ง่าย ๆ แบบนั้น
เกสรตัวผู้ของดอกไม้บางชนิดจะซ่อนอยู่ในกระเปาะ ซึ่งมีแค่รูเปิดแค่เล็ก ๆ และต้องใช้วิธีเขย่าเพื่อให้เกสรหลุดออกมา การผสมเกสรแบบพิเศษนี้เรียกว่า ‘การผสมเกสรแบบเขย่า’ (buzz pollination) ซึ่งผึ้งจะใช้กล้ามเนื้อในการสั่นเพื่อให้ละอองหลุดออกมา ผึ้งที่มีความสามารถในการผสมเกสรแบบนี้ส่วนใหญ่เป็นผึ้งเดี่ยว (solitary bee) และผึ้งหึ่ง (bumblebee) ส่วนผึ้งในกลุ่มให้น้ำหวาน (honey bee) มักไม่มีความสามารถนี้
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า การอนุรักษ์ผึ้งโดยการเลี้ยงผึ้งอย่างเดียวยังไม่พอ แต่เราต้องอนุรักษ์ผึ้งป่าที่หากินอิสระในธรรมชาติด้วย
พืชที่ต้องอาศัยการผสมเกสรแบบนี้มีไม่น้อย ที่เราคุ้นเคยกันก็เช่น มะเขือเทศ มะเขือยาว กีวี บลูเบอร์รี ฯลฯ ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าหากพืชเหล่านี้ได้รับการผสมเกสรแบบเขย่า จะได้ผลผลิตมากกว่าและน้ำหนักผลผลิตมากกว่าการผสมเกสรโดยผึ้งให้น้ำหวานทั่วไป แม้กระทั่งการใช้เครื่องมือเลียนแบบผึ้งในการสั่นเพื่อให้เกสรหลุดออกมา (artificial mechanical vibration) ก็ยังได้ผลผลิตสู้ผึ้งที่ผสมเกสรแบบเขย่าไม่ได้ (1)
ดอกไม้บางชนิดวิวัฒนาการมาควบคู่กับผึ้งบางชนิด
ผึ้งแต่ละชนิดมีนิสัยในการเก็บเกสรที่ต่างกัน ช่วงเวลาหากินต่างกัน พื้นที่หากินต่างกัน และความชอบดอกไม้ที่ต่างกัน
ผึ้งบางชนิดเรียกว่าเป็น genneralist คือไม่เรื่องมาก ตอมดอกไม้ได้หลากหลาย ในขณะที่ผึ้งบางชนิดเรียกว่าเป็น specialist คือชอบดอกไม้เฉพาะเจาะจง บางชนิดอาจเจาะจงถึงขั้นตอมดอกไม้แค่ในสกุลเดียวหรือสปีชีส์เดียวก็มี ส่วนดอกไม้เองก็เช่นกัน ดอกไม้บางชนิดมีนักผสมเกสรเข้าหาหลากหลาย แต่บางชนิดก็วิวัฒนาการควบคู่กับนักผสมเกสรบางชนิดโดยเฉพาะ
ยกตัวอย่างเช่น พืชในกลุ่มสควอช (ฟักทอง ฟัก แฟง แตง น้ำเต้า) ซึ่งมีงานวิจัยพบว่า ผึ้งสควอช (squash bee; Peponapis limitaris) ทำหน้าที่ผสมเกสรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า เมื่อเทียบกับผึ้งพันธุ์ยุโรปที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไป (European honey bee; Apis mellifera) โดยพบว่า ผึ้งสควอชนำพาเกสรได้มากกว่าผึ้งพันธุ์ถึง 4 เท่า และจำนวนดอกไม้ที่เข้าหาก็มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (2)
ส่วนในไทย มีการศึกษาพบว่า ผึ้งช่างไม้จิ๋วมรกต (Ceratina smaragdula) คือผู้ผสมเกสรหลักของกล้วยไม้เฉพาะถิ่นซึ่งพบเฉพาะบริเวณเขาหินปูนในจังหวัดตากเท่านั้น นั่นคือดอกเอื้องศรีอาคเนย์ (Sirindhornia monophylla) (3) ดังนั้น หากผึ้งชนิดนี้หายไป ดอกไม้สุดพิเศษนี้ก็อาจประสบปัญหา
ความหลากหลายทางพันธุกรรมคือหลักประกันความมั่นคง
ในภาษาอังกฤษมีสำนวนที่บอกว่า Don’t put all your eggs in one basket. (อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว) เพราะหากตะกร้านั้นตก ก็อาจไม่เหลือไข่เลย ในทางนิเวศวิทยา ความหลากหลายทางชีวภาพก็สำคัญในลักษณะเดียวกัน นั่นคือเป็นการกระจายความเสี่ยง
ลองนึกถึงระบบนิเวศหนึ่งที่มีผึ้งแค่ชนิดเดียว ถ้าวันหนึ่งเกิดโรคระบาด แล้วผึ้งชนิดที่มีอยู่ไม่มีภูมิต้านทานต่อโรคนั้น นักผสมเกสรหนึ่งเดียวของระบบนิเวศก็จะหายไป ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ นับตั้งแต่ดอกไม้ที่จะไม่ได้รับการผสมเกสรและไม่ติดผล ตามมาด้วยนกและสัตว์ที่กินผลไม้จะไม่มีอาหาร ต่อเนื่องไปยังผู้ล่าที่กินสัตว์เหล่านั้นอีกที
ในทางตรงข้าม หากระบบนิเวศนั้นมีผึ้งหลายชนิด ถ้าวันหนึ่งเกิดโรคระบาดหรือสิ่งแวดล้อมแปรปรวน ก็อาจมีโอกาสที่จะมีผึ้งบางชนิดมีภูมิต้านทานและอยู่รอดเพื่อทำหน้าที่ต่อไปได้ ทำให้ระบบนิเวศมีความยืดหยุ่นและฟื้นตัวเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า (resilience)
หนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น ในวันที่ผึ้งพันธุ์ยุโรปหลายพื้นที่ทั่วโลกประสบปัญหาปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลาย (Colony Collapse Disorder) ซึ่งผึ้งพันธุ์ตายอย่างปริศนา (สันนิษฐานว่าปัจจัยหนึ่งคือไวรัส) คนเลี้ยงผึ้งบางคนบอกว่า ผึ้งที่เลี้ยงตายไปกว่า 90% แต่ท่ามกลางวิกฤตนั้น เหล่าผึ้งพื้นเมืองส่วนใหญ่ยังอยู่รอดได้ดีและไม่ประสบปัญหาใด ๆ
ความหลากหลายทางชีวภาพจึงถือเป็นเหมือนหลักประกันความอยู่รอดและความมั่นคงของระบบนิเวศ
อ้างอิง
1 Cooley, H., Vallejo-Marín, M. (2021) Buzz-Pollinated Crops: A Global Review and Meta-analysis of the Effects of Supplemental Bee Pollination in Tomato. Journal of Economic Entomology 114(2): 505–519. https://doi.org/10.1093/jee/toab009
2 Canto, A., Parra-Tabla,V. (2000) Importance of Conserving Alternative Pollinators: Assessing the Pollination Efficiency of the Squash Bee, Peponapis limitaris in Cucurbita moschata (Cucurbitaceae). Journal of Insect Conservation 4(3):201-208 DOI:10.1023/A:1009685422587
3 Srimuang, K., Banziger, H., Pedersen H., A., and Watthana, S. (2013) Carpenter bees and the orchid of a princess: natural pollination of Sirindhornia monophylla in Thailand. Taiwania 58(3): 163–170.