เมื่อพูดถึงผึ้ง หลายคนก็อาจนึกถึงแมลงสีเหลืองสลับดำ มีเหล็กใน ตอมดอกไม้ อยู่กันเป็นรังรูปหกเหลี่ยม ภายในรังมีน้ำผึ้ง แต่จริง ๆ แล้ว วิถีชีวิตของผึ้งมีหลากหลายกว่านั้นมาก
ไม่ใช่ผึ้งทุกชนิดที่มีเหล็กใน ไม่ใช่ผึ้งทุกชนิดที่ผลิตน้ำผึ้ง ไม่ใช่ผึ้งทุกชนิดที่อยู่รวมกันเป็นสังคม แต่บางชนิดก็หากินโดดเดี่ยว บางชนิดอยู่เป็นครอบครัวเล็ก ๆ
ส่วนรูปแบบรังก็มีหลากหลาย บางชนิดทำรังใต้ดิน บางชนิดทำรังในโพรงไม้ บางชนิดทำรังในจอมปลวก บางชนิดเจาะรูในหิน หรือบางชนิดก็ไม่สร้างรังเอง แต่แอบไปวางไข่ในรังผึ้งชนิดอื่น แล้วให้ผึ้งชนิดอื่นเลี้ยงจนโต !
นอกจากนั้น ถิ่นอาศัยของผึ้งยังมีหลากหลาย นับตั้งแต่ป่าดิบไปจนถึงทะเลทราย นับตั้งแต่เทือกเขาสูงไปจนถึงทุ่งหญ้าราบต่ำและพื้นที่ชุ่มน้ำ เราสามารถพบผึ้งได้ในทุกทวีป ยกเว้นแค่แอนตาร์กติกา
ลักษณะดอกไม้ที่ผึ้งชอบก็แตกต่างกันไป บางชนิดเป็น Generalist คือตอมดอกไม้ได้หลากหลาย บางชนิดเป็น Specialist คือตอมดอกไม้เฉพาะชนิด ส่วนบางชนิดไม่เพียงตอมดอกไม้แต่กินน้ำหวานที่เพลี้ยอ่อนหลั่งออกมา ผึ้งบางชนิดกินเนื้อจากซากสัตว์ก็มี !
วิธีเก็บเกสรของผึ้งแต่ละชนิดก็มีความแตกต่างกัน บางชนิดมีกระเปาะที่ขาหลัง บางชนิดมีกระเปาะที่ท้อง ส่วนบางชนิดก็ใช้วิธีกลืนลงไปก่อน แล้วค่อยสำรอกออกมาเมื่อกลับถึงรัง
สีสันของผึ้งก็ไม่ได้มีแค่เหลืองสลับดำอย่างที่เราคุ้นเคย บางชนิดปล้องท้องเป็นสีฟ้าสลับดำสวยงาม บางชนิดหัวสีเขียวแวววาว บางชนิดเป็นลายจุดสีขาวบนตัวสีดำ ส่วนขนาดก็มีตั้งแต่ผึ้งจิ๋วที่ขนาดเล็กกว่ามด ไปจนถึงผึ้งยักษ์ที่ขนาดใหญ่เท่าหัวแม่โป้ง
หนึ่งในผึ้งที่ตัวเล็กที่สุด คือ Euphorb Mini-Fairy Bee (Perdita minima) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 2 มิลลิเมตร อาศัยในทะเลทราย พบในสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตก ขนาดที่เล็กจิ๋วนี้ทำให้นักวิจัยต้องตามหาพวกมันโดยการมองหาเงาบนพื้นทรายแทน
ส่วนผึ้งชนิดหนึ่งที่ตัวใหญ่เป็นลำดับต้น ๆ ก็คือ Wallace’s giant Bee (Megachile pluto) ความกว้างจากปลายปีกถึงปลายปีกคือ 2.5 นิ้ว มีขากรรไกรที่แข็งแกร่งเพื่อขูดดินสร้างรังในจอมปลวก ค้นพบครั้งแรกโดย Alfred Russel Wallace ผู้ค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการในเวลาเดียวกับดาร์วิน
ในบรรดาผึ้งทั่วโลกราว 20,000 สปีชีส์ ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบในปัจจุบัน ถูกแบ่งหมวดหมู่ตามสายวิวัฒนาการได้เป็น 7 วงศ์ (family) คือ
- วงศ์ Melittidae : เป็นผึ้งโบราณที่ลักษณะภายนอกเปลี่ยนแปลงน้อยมากจากบรรพบุรุษ เป็นผึ้งที่หากินโดดเดี่ยว ทำรังใต้ดิน ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา แต่ทวีปอื่น ๆ ก็พบเจอได้
- วงศ์ Apidae : เป็นวงศ์ใหญ่ที่สุด มีสมาชิกกว่า 5,700 สปีชีส์ ผึ้งส่วนใหญ่ที่เรารู้จักล้วนอยู่ในวงศ์นี้ เช่น ผึ้งหลวง ผึ้งมิ้ม ผึ้งพันธุ์ ชันโรง แมลงภู่ ผึ้งหึ่ง ฯลฯ
- วงศ์ Megachilidae : สมาชิกในวงศ์นี้ เช่น ผึ้งกัดใบ (leafcutter bee) ผึ้งเมสัน (mason bee) ผึ้งยางไม้ (resin bee) ฯลฯ กระจายอยู่ทุกทวีป ยกเว้นแอนตาร์กติกา หลายชนิดมีในประเทศไทย
- วงศ์ Andrenidae : ส่วนใหญ่อยู่โดดเดี่ยวและทำรังใต้ดิน
- วงศ์ Halictidae : หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ผึ้งตอมเหงื่อ (sweat bee) เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ชอบตอมเหงื่อมนุษย์เพื่อกินเกลือแร่ มีสมาชิกเกือบ 4,500 สปีชีส์ กระจายอยู่ทุกทวีปยกเว้นแอนตาร์กติกา หลายชนิดพบในประเทศไทย
- วงศ์ Stenotritidae : เป็นวงศ์เล็ก ๆ ที่มีแค่ 21 สปีชีส์ พบเฉพาะที่ออสเตรเลีย หากินโดดเดี่ยว ชอบที่โล่งและผืนทราย รังใต้ดินอาจลึกได้ถึง 3 เมตร
- วงศ์ Colletidae : ผึ้งกลุ่มนี้มักเรียกว่า cellophane bee, plasterer bee หรือ polyester bee ได้ชื่อนี้มาจากการผลิตสารบางอย่างที่มีความคล้ายคลึงกับพลาสติกเพื่อบุผนังรัง จุดเด่นคือมีลิ้นสองแฉกที่ใช้เหมือนแปรงทาสีเพื่อทาสารนี้บนผนังรัง
อ้างอิง
https://www.museumoftheearth.org/bees/diversity
http://cubeelab.online/database.php?keyword=showall